หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน...วันแรก

วันแรก  ให้กรรมฐานไปปฏิบัติ 6  คือ

    1.  เดินจงกรม
          ให้ยืนตัวตรง   เอามือขวาไขว้ทับมือซ้ายก็ได้  วางไว้ตรงๆ ก็ได้  ไขว้หลังก็ได้ตามแต่ถนัด   ส่วนมากเอาไว้ข้างหน้า   ทอดสายตาไปประมาณ 4-5 ศอก   ให้ลืมตา  อย่าหลับตา   ให้สติจับอยู่ที่ร่างกาย  ภาวนาว่า   ยืนหนอๆ 3  หน   ต่อนั้นไปให้สติจับอยู่ที่สันเท้า   เดินช้าๆ ภาวนาอยู่ในใจว่า  "ขวา  ย่าง  หนอ"     ขณะที่ใจนึกว่า   ขวา   ต้องยกส้นเท้าข้างขวาขึ้นให้พร้อมกัน    เท้าที่ยกกับใจที่นึกต้องให้ตรงกัน    ขณะว่า   ย่าง   ต้องเคลื่อนเท้าไปอย่างช้าๆ ลากเสียงยาวๆ  แล้วหยุดนิดหนึ่งขณะว่า   หนอ   เท้าต้องลงถึงพื้นพร้อมกัน    เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกันภาวนาในใจว่า   "ซ้าย  ย่าง  หนอ"   เช่นเดียวกัน

          ให้ส้นเท้า กับ ปลายเท้า   ห่างกันประมาณสัก 2-3 นิ้ว   เมื่อเดินสุดเสื่อ  สุดถนน  หรือสุดสถานที่   ให้เอาเท้าเคียงกัน  แล้วหยุดเดิน   ภาวนาในใจว่า   "ยืนหนอ  ยืนหนอ  ยืนหนอ"   ว่าช้าๆ ประมาณสัก 3 ครั้ง  หรือ 4-5 ครั้ง    ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย   อย่าให้ออกไปนอกร่างกาย   แล้วกลับ     จะกลับข้างขวาหรือข้างซ้ายก็ได้   ถ้ากลับข้างขวา    เวลากลับสันเท้าติดอยู่กับพื้น   ยกปลายเท้าให้พ้นพื้นแล้วหมุนไปช้าๆ พร้อมกับภาวนาในใจว่า  "กลับหนอ  กลับหนอ  กลับหนอ"    ให้หมุนไปประมาณสัก 4-5 นิ้ว    ส่วนเท้าซ้ายให้ยกขึ้นพ้นพื้นแล้วหมุนตามไปพร้อมกันภาวนาว่า   กลับหนอ   กลับหนอ  กลับหนอ    เช่นเดียวกัน    ให้หมุนกลับไปอย่างนี้ประมาณ 3 หรือ 4 คู่    ก็จะพอดีกับความต้องการที่จะหยุด    แล้วยืนตรงอยู่กับที่   ภาวนาว่า   ยืนหนอ  ยืนหนอ  ยืนหนอ    ว่า  3-4 ครั้ง   แล้วเดินจงกรมต่อไปโดย   ภาวนาว่า    ขาว  ย่าง  หนอ    ซ้าย  ย่าง  หนอ

          ให้เดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้  ประมาณ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง   เมื่อเดินพอสมควรแก่เวลาแล้ว   ก็ให้นั่งติดต่อกันไปเลย   จึงจะไม่ขาดระยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา   จึงจะแก่กล้าดี

    2.  นั่ง
          ให้เตรียมจัดอาสนะสำหรับนั่งไว้ก่อนเดินจงกรม  เวลานั้งให้ค่อยๆ ย่อตัว   เมื่อเดินครบกำหนดแล้วให้นั่งลงพร้อมกับภาวนาว่า  "นั่งหนอ  นั่งหนอ  นั่งหนอ"    ให้ภาวนาอย่างนี้เรื่องไปจนกว่าจะนั่งเสร็จเรียบร้อย

          วิธีนั่ง   ให้นั่งขัดสมาธิ  คือ  เท้าขาขวาทับขาซ้าย   เอามือขวาทับมือซ้าย  ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น   ถ้าจำเป็นจะนั่งเก้าอี้   หรือนั่งพับเพียบก็ได้

          นั่งเรียบร้อยแล้วให้หลับตา   เอาสติมาจับอยู่ที่ท้องเหนือสะดือประมาณ 2 นิ้ว   เวลาหายใจเข้าท้องพอง   ให้ภาวนาตามอาการพองว่า   "พองหนอ"   ใจที่นึกกับท้องที่พ้องต้องให้ทันกัน    ให้ตรงกันพอดี   อย่าให้ก่อนหรือหลังกันจึงจะได้ปัจจุบันดี    เวลาหายใจออกท้องยุบ   ให้ภาวนาว่า   "ยุบหนอ"    ใจที่นึกกับท้องที่ยุบต้องให้ทันกันอย่าให้ก่อนหรือหลังกัน

          ข้อสำคัญ   ให้จิตจับอยู่ที่อาการนูน   อาการแฟบของท้องเท่านั้น    อย่าไปดูลมที่จมูกและอย่าตะเบ็งท้อง   ให้นั่งภาวนาอย่างนี้ตลอดไป   อย่างต่ำประมาณ 30-40 นาที   อย่างสูงประมาณ 1 ชั่วโมง   หรือเกินกว่านั้นก็ยิ่งดี

    3.  เวทนา
          เวทนา  คือ  ความสบาย  ความไม่สบาย  หรือเฉยๆ  ในขณะที่นั่่งอยู่นั้น   ถ้าเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น  เช่น  เจ็บ  ปวด  เมื่อย  คัน  เป็นต้น   ให้ปล่อย  พอง  ยุบ   แล้วเอาสติไปกำหนดที่เจ็บ  ปวด  เมื่อย  คัน  เป็นต้นนั้น    พร้อมกับภาวนาว่า   เจ็บหนอๆ  หรือ  ปวดหนอๆ  หรือ  เมื่อยหนอๆ  หรือ  คันหนอๆ   ตามอาการของเวทนานั้นๆ  สุดแท้แต่เวทนาอย่างไรจะเกิดขึ้น   เมื่อเวทนาหายแล้ว   ให้เอาสติกลับไปกำหนดที่ท้อง   ภาวนาว่า   พองหนอ  ยุบหนอ   ต่อไปอีกจนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ตนกำหนดไว้   หรือที่ตนได้กะไว้

    4.  จิต
          ในเวลาที่นั่งกำหนดอยู่นั้น   ถ้าจิตคิดถึงบ้าน  คิดถึงทรัพย์สมบัติ  หรือคิดถึงกิจการงานต่างๆ   ให้เอาสติกำหนดที่หัวใจ   พร้อมกับภาวนาว่า   คิดหนอ  คิดหนอ   จนกว่าจะหยุดคิด    เมื่อหยุดคิดแล้ว   ให้กลับไปกำหนดพองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไปอีก    แม้ดีใจ  เสียใจ  โกรธ  เป็นต้น   ก็ให้ใช้สติกำหนดที่หัวใจโดยทำนองเดียวกันอย่างนี้   คือถ้าดีใจ  ให้กำหนดว่า  ดีใจหนอ  ดีใจหนอ   ถ้าเสียใจ ให้กำหนดว่า  เสียใจหนอ  เสียใจหนอ   ถ้าโกรธ  ให้กำหนดว่า  โกรธหนอ  โกรธหนอ   จนกว่าความโกรธนั้นจะหายไป   เมื่อความโกรธหายไปแล้วให้กลับไปกำหนด  พองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไปอีก   จนกว่าจะหมดเวลา

    5.  เสียง
          ในขณที่่นั่งกำหนดอยู่นั้น   ถ้ามีเสียงดังหนวกหู   ให้ใช้สติกำหนดที่หู   ภาวนาว่า  ได้ยินหนอ  ได้ยินหนอ    จนกว่าจะหายหนวกหู     เมื่อหายหนวกหูแล้ว   ให้กลับไปกำหนด   พองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไป

    6.  นอน
          เวลานอน   ให้ค่อยๆ เอนตัวลง   พร้อมกับภาวนาว่า  นอนหนอ  นอนหนอ    จนกว่าจะนอนเรียบร้อย    ขณะที่ภาวนานั้น     ให้สติจับอยู่ที่อาการที่เคลื่อนไหวของร่างกาย    เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาไว้ที่ท้อง     พร้อมกับภาวนาว่า   พองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไป    จนกว่าจะหลับ     ให้คอยสังเกตให้ดีว่า   จะหลับไปตอน  พอง  หรือ  หลับไปตอน  ยุบ

          วันแรก   ให้บทเรียนไปปฏิบัติเพียงย่อๆ เท่านี้ก่อน   วันต่อไป   ให้นักปฏิบัตินั้นไปส่งอารมณ์  คือ  ให้ไปสอบกรรมฐานกับพระอาจารย์ผู้ให้กรรมฐานนั้น

พระเทพสิทธิมุนี     22 .01.2524

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น