หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

บท 4 ทางไปมนุษย์


          มนุษย์   ตามความหมายทางภาษาบาลีมีได้หลายนัย  เช่น  ผู้มีใจสูง,  ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งทีไม่เป็นประโยชน์,  ผู้เป็นเหล่ากอของผู้รู้,  ผู้ที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์   ก็เพราะได้อาศัยธรรมของมนุษย์  ได้แก่ศึล 5   และกุศลกรรมบถ 10    เป็นคุณธรรมที่จะเสกสรรปั้นปรุงให้เป็นคน    ถ้าใครขาดธรรมทั้ง 2 หมวดนี้   ก็จัดว่าเป็นคนไม่เต็มคน   เหตุดังนี้นท่านจึงแบ่งมนุษย์ออกเป็น 5 จำพวกคือ

1.  มนุสฺสเนรยิโก:   มนุษย์สัตว์นรก

          ได้แก่  มนุษย์ผู้ดุร้ายหยาบคาย  เที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขา  เที่ยวจี้เที่ยวปล้นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนด้วยอาการทารุณดุร้าย   เช่น   ฆ่าเจ้าทรัพย์ตายบ้าง   ทุบตีจนบาดเจ็บสาหัสบ้าง   ข่มขืนแล้วฆ่าบ้าง  เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น   ทรมานผู้อื่นสัตว์อื่น    โดยอาการทารุณดุร้ายหยาบคายนานาประการ   รวมความว่าเป็นคนไร้ศึลธรรม  ไม่มีมนุษยธรรม คือ ศีล 5 ประจำตัวเลย   เป็นมิจฉาทิฎฐิ   ท่านจึงได้ขนานนามว่า  มนุสฺสเนรยิโก   คือเป็นมนุษย์แต่ชื่อ   ส่วนความประพฤติทาง  กาย  วาจา  ใจ   นั้นเลวทรามต่ำช้าดุร้ายหยาบคายเหมือนกับสัตว์นรกฉะนั้น

2.  มนุสฺสเปโต:   มนุษย์เปรต

         ได้แก่มนุษย์ผู้มากไปด้วยความโลภ   มากไปด้วยตัณหา   ชอบลักเล็กขโมยน้อย  โลภเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน  แย่งชิง  วิ่งราว  เป็นต้น   แม้พวกที่เที่ยวขอทานมีบาดแผลเกรอะกรังก็สงเคราะห์เข้าประเภทนี้ด้วย

3.  มนุสฺสติรจฺฉาโน:  มนุษย์สัตว์ดิรัจฉาน

          ได้แก่มนุษย์ที่ขวางศีล  ขวางธรรม  มีโมหะคือความหลงมาก   ไม่รู้จักบาป  ไม่รู้จักบุญ  ไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จักโทษ  ไม่รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์  ไม่รู้จักคุณของผู้มีคุณ  เช่น  บิดามารดา  คูรบาอาจารย์  เป็นต้น   เป็นมนุษย์ไร้ศีลธรรม  ดื่มเหล้าเมาสุรา  สูบฝิ่น  กินกัญชา  ทำอะไรทาง  กาย  วาจา  ใจ  ก็ขวางๆ  ผิดทำนองครองธรรม   ท่านจึงได้ขนานนามว่า  มนุสฺสติรจฺฉาโน   แปลว่า  ผู้ไปขวาง  คือเดินทอดตัว  ไม่ได้เดินตั้งตัวเหมือนคน  คนดิรัจฉานก็ฉันนั้น  ทำอะไรก็ขวางธรรมขวางวินัย  คือผิดศึลธรรมอยู่เสมอๆ

4.  มนุสฺสภูโต:   มนุษย์แท้ๆ

          คือเป็นคนเต็มคน  ได้แก่  บุคคลผู้เกิดมาเป็นคนแล้ว  ได้รักษาศีล 5 มั่นเป็นนิตย์  มิได้ขาดมิได้ประมาทต่อศีล  เพราะถือว่าเป็นมนุษยธรรม คือเป็นธรรมประจำมนุษย์   ธรรมที่ทำคนให้เป็นคน   แต่มิได้บำเพ็ญกุศลจริยาอย่างอื่นอีก  เช่น  ไม่ได้ให้ทาน  ไม่ได้ฟังธรรม  เป็นต้น  มนุษย์อย่างนี้ท่านขนานนามว่า  มนุสฺสภูโต  คือ  เป็นคนเต็มคน   เพราะมีคุณธรรมของคนคือศีล   ศีล  แปลว่า เศียร คือ หัว  ถ้าคนขาดศีล   ก็คือคนขาดหัว  หัวขาดนั่นเอง   เพราะขาดจากคุณธรรมของความเป็นคน

5.  มนุสฺสเทโว:   มนุษย์เทวดา

        ได้แก่มนุษย์ผู้มีศีล 5 มั่นเป็นนิตย์แล้วยังได้พยายามบำเพ็ญกุศลเพิ่มพูนบารมีอยู่เรื่อยๆ  เช่น  ให้าน  ฟังธรรม  เรียนธรรมปฏิบัติธรรม  ไหว้พระ  สวดมนต์  มีหิริ  คือความละอายบาป   มีโอตตัปปะ  คือความสะดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาปอยู่เสมอเรียกว่า   เป็นผู้มีใจสูงดุจเทวดา   เพราะประกอบด้วยเทวธรรม 7 ประการ  คือ
  • บำรุงเลี้ยงมารดาบิดา
  • ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญในตระกูล
  • พูดจาไพเราะเสนาะหู  อ่อนหวาน  นุ่มนวล
  • ละความส่อเสียด
  • รักษาคำสัตย์
  • ละความตระหนี่เหนียวแน่น
  • ไม่โกรธ
          มนุษย์ผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้  ท่านขนานนามว่า   มนุสฺสเทโว
          เท่าที่่แสดงมานี้  ก็พอชี้ให้เห็นได้เด่นชัดแล้วว่า   ศีลธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องวัดบุคคล   เป็นเครื่องแบ่งแยกบุคคลให้มีประเภทต่างๆ  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น   ถ้าผู้ใดไรศีลธรรม   ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นคนไม่เต็มคนบ้าง   เป็นคนเปรตบ้าง  เป็นคนอสุรกายบ้าง  เป็นคนนรกบ้าง   เป็นคนดิรัจฉานบ้าง    ถ้าผู้ใดมีศีลธรรม  มีกัลยาณธรรม   มีวัฒนธรรมอันดีงาม    ผู้นั้นก็ชื่อว่า   เป็นคนเต็มคน   เป็นคนแท้ๆ  และเป็นคนเทวดา
          เพราะฉะนั้นทางไปมนุษย์จึงได้แก่ศีล 5   ซึ่งเป็นมนุษยธรรม  คือธรรมประจำมนุษย์   ในพระบาลีท่านเรียกว่า  "อริยธรรม"   เช่น  คำว่า  "อริยธมฺเม  ฐิโต   นโร"    นรชนผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม  ได้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล 5  ดังนี้

พระเทพสิทธิมุนี     22 .01.2524
-------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น