หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

บท 6 ทางไปพรหมโลก


          ทางไปพรหมโลก  ได้แก่สมถกรรมฐาน  มีอารมณ์ 40  แบ่งออกเป็น 7 หมวด  คือ  กสิณ 10   อนุสสติ 10   พรหมวิหาร 4   อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1   จตุธาตุววัตถาน 1     ซึ่งมีความพิศดารได้เขียนไว้อีกเล่มหนึ่งต่างหาก    โดยใช้ชื่อว่า  "จิตตภาวนา"  หรือ  "ธรรมปฏิบัติ"   และอีกเล่มหนึ่งได้เขียนเป็นทำนองปุจฉาวิสัชนา  ให้ชื่อว่า  "คำถาม-คำตอบ  เรื่องวิปัสสนากรรมฐาน"  ดังนั้น   ในเล่มนี้จะขอยกไว้ไม่นำมาแสดงไว้ในที่นี้อีก   ท่านผู้ประสงค์จะทราบก็โปรดติดตามหาดูได้ในหนังสือดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

          สรุปความว่าทั้ง 7 หมวดรวมเป็น 40 ข้อนี้   เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน   ผู้ที่เจริญกรรมฐานเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่ง  เช่น  ภาวนาว่า  "เกสา  โลมา  นขา  ทนฺตา  ตโจ"  เป็นต้น   จนได้บรรลุฌานมีปฐมฌาน  เป็นต้น   เมื่อตายแล้วจึงได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง   ตามสมควรแก่ฌานของตนๆ   ถ้าผู้ใดต้องการไปเกิดพรหมโลกก็ต้องเจริญสมถกรรมฐานจนไดฌานก่อน   จึงจะไปได้

          ทางสายที่ 1 ถึงสายที่ 6 นี้   มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้ว   ในพุทธศาสนาก็มี  นอกพุทธศาสนาก็มี  เช่น  อาฬารดาบส  อุทกดาบส  ผู้เป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า  เป็นต้น   ได้เคยเดินทางสายนี้มาแล้ว    ผู้ที่เดินทางสายนี้ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติได้ดีจนได้บรรลุฌาน  ได้บรรลุอภิญญาแล้วก็เสื่อมได้  เช่น  พระเทวทัตเป็นตัวอย่าง   และถ้าหมดบุญแล้วก็ยังจะกลับมาสู่อบายภูมิได้   ดังตัวอย่างต่อไปนี้  คือ  แม่ไก่ฟังธรรม

          มีเรื่องเล่าไว้ว่า   ในกาลแห่งพระพุทธเจ้านามว่า  กกุสันธะ  แม่ไก่ตัวหนึ่ง  อยู่ในที่ใกล้อาสนศาลา   แม่ไก่ตัวนั้นได้ฟังเสียงประกาศธรรมของภิกษุผู้เป็นนักปฏิบัติธรรมรูปหนึ่ง   กำลังสาธยายเรื่องวิปัสสนากรรมฐานอยู่   ถูกเหยี่ยวตัวหนึ่งฆ่า   ตายจากชาตินั้นแล้ว  ได้เกิดเป็นพระราชธิดานามว่า  อุพพรี   ได้ออกบวชในสำนักของปริพาชิกาทั้งหลาย   วันหนึ่งนางได้เข้าไปสู่เว็จกุฏิทอดพระเนตรเห็นหมู่หนอนแล้ว   ได้เจริญสมถกรรมฐานโดยเอาหนอนเป็นอารมณ์  เรียกว่า   ปุฬุวกสัญญา  ได้บรรลุปฐมฌาน   ตายจากชาตินั้นได้ไปเกิดในพรหมโลก   จุติจากพรหมโลกได้มาเกิดในตระกูลเศรษฐี    ต่อมาไม่นานเท่าไร   ก็ตายไปเกิดเป็นนางลูกสุกร  ในกรุงราชคฤห์   ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเรานี้
          พระศาสดา   ได้ทอดพระเนตรเห็นนางลูกสุกรนั้น   จึงทรงแย้มพระโอษฐ์   พระอานนท์เถระได้ทูลถามพระพุทธองค์จึงได้ตรัสบอกข้อความนั้นทั้งหมด   ภิกษุทั้งหลายมีพระอานนท์เป็นประมุขได้สดับเรื่องนั้นแล้ว   ต่างก็พากันเกิดความสังเวชสลดใจเป็นอันมาก
          พระศาสดาทรงยังความสังเวชสลดใจให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว   เพื่อจะทรงประกาศโทษแห่งราคะตัณหา    ประทับยืนอยู่ในระหว่าถนนนั้นเอง   ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

          ยถาปิ   มูเล   อนุปทฺทเว   ทฬฺเห
          ฉินฺโนหิ   รุกฺโข   ปุนเรว   รูหติ
          เอวมฺปิ   ตณฺหานุสเย   อนูหเต
          นิพฺพตฺตตี   ทุกฺขมิทํ   ปุนปฺปุนํ

          ดังนี้เป็นต้น   แปลเป็นใจความว่า   ต้นไม้  เมื่อรากไม่มีอันตรายยังมั่นคง   ถึงจะถูกบุคคลตัดแล้วก็ยังงอกขึ้นได้อีกอยู่   แม้ฉันใดทุกข์ก็ฉันนั้น  คือ  เมื่อตัณหานุสัยอันบุคคลยังขจัดไม่ได้แล้วย่อมเกิดขึ้นได้อยู่ร่ำไปเหมือนกันอย่างนั้น ฯ

          กระแสแห่งตัณหา 36   อันไหลไปในอารมณ์เป็นที่พอใจ   เป็นของกล้า  ย่อมมีแก่บุคคลใด   ความดำริทั้งหลายอันใหญ่  อาศัยราคะ   ย่อมนำบุคคลนั้นผู้มีทิฏฐิชั่วไป   กระแสแห่งตัณหาทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง   ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วตั้งอยู่    ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหานั้นเป็นดังเถาวัลย์   เกิดแล้วจงพากันตัดรากเสียด้วยปัญญาเถิด    โสมนัสทั้งหลายที่่ซ่านไปและเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียวย่อมมีแก่สัตว์    สัตว์เหล่านั้นอาศัยความสำราญ   จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข    นรชนเหล่านั้นแล   ย่อมเป็นผู้เข้าถึงความเกิด  และความแก่   หมู่สัตว์ถูกตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้วย่อมกระเสือกกระสนเหมือนกระต่ายที่ถูกนายพรานดักได้   แล้วฉะนั้น    หมู่สัตว์ผู้ข้องอยู่ในสังโยชน์และกิเลสเป็นเครื่องข้องอยู่ย่อมพากันเข้าถึงทุกข์อยู่บ่อยๆ  เป็นเวลาช้านาน   หมู่สัตว์ถูกตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว   ย่อมกระเสือกกระสนเหมือนกันกับกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้วฉะนั้น   เพราะเหตุนั้น   ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร   หวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตนพึงบรรเทา   พึงกำจัด  พึงนำออก  พึงทิ้งพึงละตัณหาผู้กระทำความดิ้นรนนั้นเสียด้วยญาณ    มีโสดาปัตติมัคคญาณเป็นต้น   ดังนี้          
      
พระเทพสิทธิมุนี     22 .01.2524

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเข้าฌานไม่ได้ ให้สละสวรรค์ และทิพยสมบัติทั้งปวง รวมทั้งความเป็นเจ้าของธรรมนั้น จิตจะเกิดความความว่าง นั่นแหละอวิหาเทวาฯ

    (รับรองว่าไม่เกิดในสวรรค์ชั้นปรนิม แน่นอน)

    ตอบลบ