หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

อานิสงส์หรือผลที่จะได้รับจากการเจริญวิปัสสนา (ต่อ)

  • ทำกิเลส  คือ  โลภะ  โทสะ  โมหะ  มานะ  ทิฏฐิ  เป็นต้น  ให้เบาบางลง
  • ทำให้เป็นคนมีใจสุขุมเยือกเย็น
  • ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ  ดุจรถที่มีเครื่องห้ามล้อดีฉะนั้น
  • ทำให้สมาธิดี  ทำให้ความจำดีขึ้น  ทำให้เรียนหนังสือเก่ง  เป็นประโยชน์แก่รักเรียน  นักศึกษามาก
  • ทำให้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หายไป  เช่น  โรคประสาท  โรคอัมพาต  โรคกระเพาะ  โรคปวดศรีษะ  เป็นต้น
  • สามารถเป็นปัจจัยนำไปเกิดในสวรรค์ได้  เช่น  พระภิกษุรูปหนึ่งท่านเจริญวิปัสสนากรรมฐานถึงญาณที่  4  แล้วมรณภาพลงด้วยโรคลม  ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ลงมากราบพระพุทธเจ้าขอฟังธรรม  ปฏิบัติธรรมต่อในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน   กลับไปเสวยรมย์ชมสมบัติอยู่ในเทวโลกสืบต่อไป
  • ทำให้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้นไปเป็นร้อยเท่าพันทวี
  • สะดวกแก่การปกครอง คือ  ทำให้ผู้ที่ได้รับการอบรมไปแล้วนั้นเป็นผู้ปกครองง่าย   ไม่ก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่หมู่  แก่คณะ  แก่สังคมทั่วๆ ไป
  • กันโง่  เพราะมีสติ  สติเป็นคู่ปรับกับโมหะ  คือ  ความโง่   เพราะโมหะนี้แหละเป็นตัวโง่   อย่างสำคัญที่สุดของแต่ละบุคคล
  • มีสติตั้งมั่นดีทั้งในยามปกติและในยามใกล้จะตาย
  • ทำให้คนมีศีลธรรม  วัฒนธรรม  อารยธรรม  จริยธรรมอันดีงามโดยมากจะมีศีล 5  มั่นเป็นนิจ
  • เด็กนักเรียนที่มีความจำได้ไม่ดี  เรียนหนังสือไม่เก่ง  ก็จะมีความจำดีขึ้น  เรียนหนังสือเก่งขึ้น  อีกหลายเท่าทีเดียว  เพราะมีตัวอย่างมามากต่อมากแล้ว
  • แก้นิสัยคนไม่ดีมาก  คือ  คนที่เป็นพาลเกเร  เช่น  อันธพาลนักโทษ   ถ้าได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วจะกลับตัวเป็นคนละคน   ถ้านักโทษแต่ละคนได้เข้าปฏิบัติแล้วเวลาปล่อยออกไปจะไม่กลับมาสู่คุกสู่ตะรางอีกเลย
  • ถ้าฝึกสมาธิได้ดีแล้ว   จะมีสุขภาพทางจิตดีเพราะได้พัฒนาจิตมาดี  เข้าในหลักที่ว่า  กิเลสเป็นพิษทำให้จิตแปรปรวน   สมาธิเท่านั้นทั้งกันทั้งแก้   และสามารถจะนั่งได้เป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมง   เริ่มตั้งแต่ 5 นาทีไป  จนกระทั่งถึง  24 ชั่วโมง  30  40  72  ชั่วโมงก็ได้   เพราะเคยมีมาแล้ว
  • ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าด้ายการบูชาอย่างสูงที่สุด  ดังพระบาลีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้  ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก  เล่มที่่ 10  หน้าที่  160-161  ว่า
          โย   โข   อานนฺท   ภิกฺขุ   วา  ภิกฺขุนี   วา   อุปาสโก   วา  อุปาสิกา   วา   ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน   วิหรติ   สามีจิปฏิปนฺโน   อนุธมฺมจารี   โส   ตถาคตํ   สกฺกโรติ   ครุกโรติมาเนติ   ปูเชติ   ปรมาย   ปูชาย
          ดูกรอานนท์   ผู้ใดเป็นภิกษุก็ตาม  เป็นภิกษุณีก็ตาม  เป็นอุบาสกก็ตาม  เป็นอุบาสิกาก็ตาม  ถ้าได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม  ปฏิบัติชอบยิ่ง  ปฏิบัติตามธรรมอยู่  ผู้นั้น  ชื่อว่าได้สักการะ  ได้เคารพ  ได้นับถือ  ได้บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างสูง  ดังนี้
  • ชื่่อว่าได้ช่วยกันรักษาพระสัทธรรมไว้ไม่ให้เสื่อมสมดังพระบาลีว่า
          จตุนฺนํ   โข   อาวุโส   สติปฏฺฐานานํ   ภาวิตตฺตา   พหุลีกตตฺตา   สมฺธมฺมอปริหานํ   โหติ
          ดูกรอาวุโส  พระสัทธรรมจะไม่เสื่อม  ก็เพราะพุทธบริษัทพากันปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4   ดังนี้
  • ชื่อว่าได้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ให้เจริญรุ่งเรืองดำรงเสถียรภาพอยู่ตลอดกาลนาน  สมดังหลักฐานรับรองไว้ว่า
          ยาว   หิ   อิมา   จตสฺโส   ปริสา   มํ   อิมาย   ปฏิปตฺติปูชาย   ปูเชสฺสนฺติ   ตาวมมสาสนํ   นภมชฺเฌ ปุณฺณจนฺโท   วิย   วิโรเจสฺสติ
          จริงอยู่    ถ้าบริษัททั้ง 4 นี้   จักบูชาเราด้วยการปฏิบัตินี้อยู่ตราบใด   ศาสนาของเราจักเจริญรุ่งเรืองปานดังพระจันทร์เพ็ญลอยเด่นจ้าอยู่ท่ามกลางนภาตราบนั้น  ดังนี้
  • ชื่่อว่าได้เห็นพระพุทธองค์   เพราะได้เห็นพระธรรม  สมดังที่ตรัสกับพระวักกลิว่า
          โย   โข   วกฺกลิ   ธมฺมํ   ปสฺสติ   โส   มํ   ปสฺสติ   โย   มํ   ปสฺสติ  โส  ธมฺมํ   ปสฺสติ
          ดูกรวักกลิ   ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเรา  ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม   ดังนี้
  • ชื่อว่าได้มีความจงรักภักดี  มีความเคารพรักใคร่ในพระพุทธองค์เป็นพิเศษ   สมดังพระบาลี  ซึ่งปรากฎอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา  ภาค 6 ว่า
          ภิกฺขเว   มยิ   สสิเนโห   ติสฺสสทิโส   ว   โหตุ   คนฺธมาลาทีหิ   ปูชํ   กโรนฺตาปิ   เนว   มํ   ปูเชนฺติ   ธมฺมานุธมฺมปฏิปชฺชมานาเยว   ปน   มํ   ปูเชนฺติ
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ผู้ที่มีความจงรักภักดีในเรา   จงเป็นเช่นกับพระติสสะเถระเถิด  (พระติสสะเถระ  ท่านเจริญวิปัสสนากรรมฐาน   ก็จงพากันเจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนท่านเถิด)   ถึงแม้ว่าบริษัททั้ง 4  พากันทำการบูชาเราด้วยของหอมและดอกไม้นานับประการ   ก็ยังไม่ชื่อว่าได้บูชาเราอย่างแท้จริง   ส่วนพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น   จึงจะชื่อว่าได้บูชาเราด้วยการบูชาอย่างแท้จริง   ดังนี้
  • ชื่อว่าได้บำเพ็ญกองกุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาลทีเดียว  ข้อนี้มีพระบาลีซึ่งปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก  เล่มที่ 9  หน้าที่  126  รับรองไว้ว่า
          กุสลราสีติ   ภิกฺขเว   วทมาโน   จตฺตาโร   สติปฏฺฐาเน   สมฺมา   วทมาโน   วเทยฺย
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เมื่อจะกล่าวว่ากองแห่งกุศล  จะต้องกล่าวถึงสติปัฏฐานทั้ง 4  ดังนี้
  • ชื่อว่าได้ตัดเวมติกังขา  คือ  ข้อข้องใจสงสัยของตัวเอง  ซึ่งได้เคยสงสัยว่า  สมัยนี้มรรคผลนิพพานจะมีอยู่หรือไม่หนอ   ซึ่งสอดคล้องต้องตามพระบาลีที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก  เล่มที่ 10  หน้าที่  175-176  ว่า
          อิมสฺมิญฺจ   โข   สุภทฺท   ธมฺมวินเย   อริโย   อฏฺฐงฺคิโก   มคฺโค   อุปลพฺภติ   สมโณปิ   ตตฺถ   อุปลพฺภติ ฯ   เปฯ   อิเม   จ   สุภทฺท   ภิกฺขู   สมฺมา   วิหเรยฺยุ   อสุญฺโญ   โลโก   อรหนฺเตหิ   อสฺส
          ดูกรสุภัททะ  ในะพระธรรมวินัยนี้   ถ้ายังมีอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐอยู่ตราบใด   แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามี   พระอนาคามี  พระอรหันต์    ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น  ฯลฯ   ดูกรสุภัททะ   ถ้าภิกษุทั้งหลาย   พึงพากันประพฤติปฏิบัติอยู่โดยชอบ    โลกก็ไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์   ดังนี้
          พระอรรถกถาจารย์ยังได้กลาวรับรองความข้อนี้ไว้อีก   ซึ่งปรากฎอยู่ในสุมังคลวิลาสินีอัฏฐกถาทีฆนิกาย   ปาฏิกวรรค   ภาค 3  หน้าที่  111-112   บรรทัดที่ 1   และบรรทัดที่ 1-2  ว่า
          ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ   วสฺสสหสฺสํ   อฏฺฐาสิ      พันปีที่ 1  เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา
          ฉฬภิญเญหิ   วสฺสสหสฺสํ           พันปีที่ 2  เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
          เตวิชเชหิ   วสฺสสหสฺสํ              พันปีที่ 3  เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชา 3
          สุกฺขวิปสฺสเกหิ   วสฺสสหสฺสํ      พันปีที่ 4  เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน
          ปาฏิโมกฺเขหิ   วสฺสสหสฺสํ   อฏฺฐาสิ     พันปีที่ 5  เป็นยุคของพระอนาคามี  พระสกทาคามี  และพระโสดาบัน   ดังนี้
  • ชื่อว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ทั้ง 3  ปิฎก  คือ  พระวินัย  พระสูตร  พระอภิธรรม   สมดังหลักฐานที่่มีปรากฎอยู่ในธรรมบทภาค 2  หน้าที่  60  บรรทัดที่ 1  รับรองไว้ว่า   (ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
          สกลํปิ   หิ   เตปิฎกํ   พุทฺธวจนํ   อาหริตฺวา   กถิยมานํ   อปฺปมาทเมว   โอตรติ
          จริงอยู่พระพุทธพจน์  คือ  คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจบทั้ง 3  ปิฎก   แม้ทั้งสิ้นคือไม่เหลือเลยสักตัวเดียวที่พระนักเทศน์   พระธรรมกถึก  นำมาแสดงให้พุทธบริษัทฟังอยู่นั่น   ย่อมรวมลงสู่จุดเดียวเท่านั้น   คือ  ความไม่ประมาท

          โส   ปเนส   อตฺถโต   สติยา   อวิปฺปวาโส   นาม
          ก็อันความไม่ประมาทนี้นั้น   โดยใจความก็ได้แก่การไม่อยู่ปราศจากสติฯ   คนมีสติก็คือคนเจริญสติปัฏฐาน 4    คนเจริญสติปัฏฐาน 4   ก็คือคนเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

          ได้บรรยายเรื่องทาง 7 สาย   พร้อมทั้งอานิสงส์แห่งการเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก็นับว่าสมควรแก่กาลเวลาแล้ว   ขอยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้
       
          อิทํ   เม   ปุญญํ   นิพฺพานสฺส   ปจฺจโย   โหตุ
          อิทํ   เม   ปุญฺญภาคํ   สพฺพสตฺตานํ   เทมิ
พระเทพสิทธิมุนี     22 .01.2524
------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น