หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

อานิสงส์หรือผลที่จะได้รับจากการเจริญวิปัสสนา

          ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า  "อเนกสหสฺสา"  แปลว่าการเจริญวิปัสสนานั้น  มีประโยชน์  มีอานิสงส์หลายร้อยหลายพัน  จนไม่สามารถจะนับประมาณได้   ดังนั้นในที่นี้จะขอยกมาพอเป็นตัวอย่างแต่เล็กน้อย  พอเหมาะพอควรแก่กาลเวลา  คือจะยกมาเพียงส่วนน้อยๆ เท่าที่สามารถจะนำมาได้เท่านั้น  คือ
  • ทำให้นักปฏิบัติเข้าใจธรรมะทั้งด้านปริยัติ  และด้านปฏิบัติได้ดีและละเอียดละออยิ่งขึ้น  เช่น  เข้าใจคำว่า  รูปนาม  พระไตรลักษณ์  เป็นต้น  ดีขึ้นกว่าไม่ได้เข้าปฏิบัติหลายเท่า
  • ทำให้มีกำลังใจเข้มแข็ง  มีความขยัน  มีความอดทน  มีความรู้จักประหยัดยิ่งขึ้นเป็นพิเศษกว่าแต่ก่อน  เข้าในหลักที่ว่า  "วินัย  ขยัน  อดทน  ประหยัด  พัฒนา  ลดปัญหาได้ทุกอย่าง"  ดังนี้
  • พัฒนาจิตใจให้เป็นนักเสียสละขึ้นอีกมาก  เห็นแก่ส่วนรวม  ทำงานไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย  และไม่เบื่อหน่าย  ยิ่งทำยิ่งเพลิน  ตรงกันข้ามกับสมัยก่อนเมื่อยังไม่ได้เข้าปฏิบัติกรรมฐาน
  • ทำให้ดูหนังสือธรรมะเพลิดเพลิน  ไม่รู้จักเบื่อ   เข้าในหลักที่ว่า  ยิ่งดูยิ่งมัน  บางวันอ่านหนังสือธรรมะ  ค้นพระไตรปิฎกเพลิดเพลินไม่อยากหลับไม่อยากนอน
  • ทำให้อธิบายธรรมะได้ดีขึ้น  ละเอียด  สุขมขึ้นกว่าเดิม  เพราะสามารถจะอธิบายได้ทั้ง  ปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ  ซึ่งลุ่มลึกไปตามลำดับ   ดุจทะเลมหาสมุทรฉะนั้น
  • ทำให้มีสติดีขึ้น  ความจำดีขึ้น  จำได้แม่นยำ  จำได้แล้วไม่ค่อยหลงไม่ค่อยลืม
  • เป็นมหากุศล  เป็นบุญทุกขณะที่ลงมือปฏิบัติหรือลงมือสอนผู้อื่น  แนะนำผู้อื่น
  • เป็นคนไม่ประมาท  เพราะมีสติระลึกอยู่กับ นามรูป  เป็นส่วนมาก
  • ได้บำเพ็ญ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ตามพระพุทธโอวาท
  • ได้เดินทางสายกลาง  คือ  มรรค 8
  • ได้เดินทางสายเอก  คือ หนึ่งไม่มีสอง
  • ได้บำเพ็ญบารมี  ได้รีบสร้างบารมี  ได้เตรียมตัวก่อนตายไว้พร้อมแล้ว
  • ทำให้ฉลาดรู้จักหลักความจริง  และรู้จักหลักชีวิตประจำวันดีขึ้น
  • ทำให้รู้จักปรมัตถธรรม  ไม่หลงติดอยู่ในสมมุติบัญญัติ   อันเป็นเพียงโรงละครของชาวโลก
  • ทำให้คนรักใคร่กันปรองดองกัน  สนิทสนมกัน  เข้ากันได้ดี  เป็นเสมือนหนึ่งญาติสนิท
  • ทำให้คนมีความเมตตากรุณาต่อกัน  เอ็นดูกันสงสารกัน  พลอยยินดีอนุโมนาสาธุการในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี   ไม่มีความริษยากันและกัน
  • ทำคนให้เป็นคน  ให้ดีกว่าคน  ให้เด่นกว่าคน  ให้เลิศกว่าคน  ให้ประเสริฐกว่าคน  ให้สูงกว่าคน  และทำคนให้เป็นพระ
  • ทำคนไม่ให้เบียดเบียนกัน  ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกัน  ไม่ให้อิจฉาริษยากันและกัน
  • ทำคนให้เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย  ไม่มีมานะทิฏฐิ  ไม่ถือตัว  ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
  • ทำคนให้รู้จักตัวเอง  รู้จักปกครองตัวเอง  คือ  อ่านตัวออก  บอกตัวได้  ใช้ตัวเป็น  หรือ อ่านตัวออก  บอกตัวได้  ใช้ตัวฟัง
  • ทำคนให้เป็นผู้หนักแน่นในกตัญญูกตเวทิตาธรรม  คือ  เป็นคนมีความกตัญญูกตเวที  นั่นเอง
  • ทำคนให้หันหน้าเข้าหากัน  ให้บรรจบกัน  เพราะต่างฝ่ายต่างลดทิฏฐิมานะลงหากัน   เข้ากันได้เป็นกันเอง   รู้ใจกันดี
  • ทำคนให้มี  กาย  ใจ  บริสุทธิ์  อ่อนน้อมเยือกเย็น
  • ทำคนให้ได้รับความสุข 7 ประการ  คือ  สุขของมนุษย์  สุขทิพย์  สุขในฌาน  สุขในวิปัสสนา  สุขในมรรค  สุขในผล  สุขคือนิพพาน  ตามสมควรแก่การปฏิบัติของตนๆ  หรือ ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ
  • ทำคนให้พ้นจากความเศร้าโศกปริเทวนาการ  ดุจนางปฏาจาราและสันตติมหาอำมาตย์  เป็นต้น
  • ทำคนให้มีปัญญาดับความทุกข์ร้อนทางกาย  ทางใจ
  • ทำคนให้เดินทางถูก  ให้รู้จักวิถีทางแห่งชีวิตอันถูกต้องได้ดี  ไม่หลงทาง  ไม่มัวเมา  ไม่ประมาท  รู้จักสูตรของคนที่ว่า  "เกิดเป็นคน  คนให้ทั่ว  ปากไม่ล้น  ก้นไม่รั่ว  ชั่วไม่เอา  เมาไม่มี  นี้คือคน"  ดังนี้
  • ทำคนให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นปริโยสาน
  • ถึงปฏิบัติได้แค่ญาณ  1-2  คือ  เพียงอยู่ในญาณต้นๆ หรือญาณต่ำๆ  ถ้าพยายามรักษาไว้ได้หรือปฏิบัติต่อๆ ไป   ก็สามารถจะป้องกันภัยในอบายภูมิได้   ดังมีหลักฐานรับรองไว้ในวิสุทธิมรรคภาค  3  หน้า  229  ว่า
          อิมินา   ปน   ญาเณน   สมนฺนาคโต   วิปสฺสโก   พุทฺธสาสเน   ลทฺธสฺสาโส   สทฺธปติฏโฐ   นิยคติโก   จูฬโสตา   ปนฺโน   นาม   โหติ
          ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน   ถึงญาณที่  2   คือ  ปัจจัยปริคคหญาณนี้แล้ว   ได้ความเบาอกเบาใจในพระพุทธศาสนา   ได้ที่พึ่งที่ระลึกในพระพุทธศาสนา  มีคติอันเที่ยง  คือตายไปแล้วไม่ไปอบายภูมิ  ชื่อว่าเป็น  จูฬโสดาบัน   หมายความว่า  เป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพานน้อยๆ  เป็นผู้เดินทางถูกแล้ว
  • ถ้าปฏิบัติถึงญาณที่  4  คือ  อุทยัพพยญาณ   เห็นรูปและนามเกิดดับ  เห็นพระไตรลักษณ์ชัด  50% ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิตอันประเสริฐ  ถึงจะตายเสียในวันนั้น  ก็ยังดีกว่าบุคคลผู้ไม่ได้ปฏิบัติ   แต่มีชีวิตเป็นอยู่ได้ตั้ง  100 ปี   ดังมีหลักฐานรับรองไว้   ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่  25  หน้าที่  30  ว่า
          โย   จ   วสฺสสตํ   ชีเว                อปสฺสํ   อุทยพฺพยํ
          เอกาหํ   ชีวิตํ   เสยฺโย               ปสฺสโต   อุทยพฺพยํ
          ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานถึงญาณที่  4  อุทยัพพยญาณ  เห็นความเกิดดับของรูปและนาม   ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันเดียว   ก็ยังประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม   แต่มีชีวิตเป็นอยู่ได้ตั้ง  100 ปี
  • ถ้าชาตินี้ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน   ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในชาติต่อไป  คือ  ถ้าเจริญวิปัสสนาในปฐมวัย  คือตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ถึง 25 ปี   แต่ไม่สำเร็จ   ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จในมัชฌิมวัย  คือ  ตั้งแต่อายุ 25 ปี  ถึงอายุ  50 ปี
  • ถ้ายังไม่สำเร็จในมัชฌิมวัยนี้   ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จในปัจฉิมวัย  คือตั้งแต่อายุ  51 ปีถึงอายุ 75 ปี
  • ถ้ายังไม่สำเร็จในปัจฉิมวัยนี้   ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จในมรณสมัย  คือในเวลาใกล้จะตาย       ถ้าไม่สำเร็จในเวลาใกล้ตาย   ก็จะเป็นปัจจัยให้ใจบริสุทธิ์   แล้วไปเกิดในสวรรค์   สมดังพระบาลีว่า    จิตฺเต   อสงฺกิลิฏฺเฐ   สุคติ   ปาฏิกงฺขา      เมื่อใจไม่เศร้าหมอง  คือใจบริสุทธิ์แล้ว    สุคติก็เป็นอันหวังได้ดังนี้    จะได้สำเร็จบนสวรรค์โน้น
  • ถ้ายังไม่สำเร็จบนสวรรค์โน้น   ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้ฟังธรรมก่อนจะหมดศาสนา   พระอัฏฐิฐาตุทั้งหลายจะได้มารวมกันเป็นองค์พระพุทธเจ้า   ทรงแสดงธรรมอยู่ 7 วัน 7 คืน   ก็จะได้มีโอกาสมาฟังธรรม   ปฏิบัติธรรมในสมัยนั้น   แล้วจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในตอนนั้น
  • ถ้ายังไม่สำเร็จในตอนนั้น   ก็จะได้เกิดทันศาสนาของพระศรีอริยเมตตรัย   ได้ฟังธรรมต่อพระพักตร์ของพระองค์   แล้วได้สำเร็จมรรคผลนิพพานโดยเร็วพลันที่สุด   ดุจพาหิยะทารุจีริยะ   พระอัญญาโกณฑัญญะ  พระวัปปะ  พระภัททิยะ  พระมหานาม  พระอัสสชิ  พระสารีบุตร  พระมหาโมคคัลลานะ  เป็นต้น
  • ถ้าไม่ได้พบพระศรีอริยเมตตรัย  หรือสาวกของพระศรีอริยเมตตรัย   เกิดในสุญกัปป์  คือ  กัปป์ที่ว่างจากพระพุทธเจ้า   ก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า   ได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานด้วยตนเอง   ดังนี้
พระเทพสิทธิมุนี     22 .01.2524

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น