หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

บท 7 ทางไปนิพพาน

นิพฺพานํ   ปรมํ   สุขํ       พระนิพพานเป็นสุขอย่างยอด  คือเป็นยอดสุข

คำว่า  "ยอด"  นั้นมีอยู่ 7  คือ

  1. ยอดโรค    ได้แก่ความหิว   ชิฆจฺฉา   ปรมาโรคา     ความหิวเป็นโรคอย่างยอด
  2. ยอดลาภ    ได้แก่ความไม่มีโรค    อาโรคฺยาปรมา   ลาภา     ความไม่มีโรคเป็นยอดลาภ
  3. ยอดทรัพย์   ได้แก่ความสันโดษ  คือรู้จักพอ    สฺนตุฏฺฐี   ปรมํ   ธนํ     ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์
  4. ยอดญาติ   ได้แก่ความคุ้นเคย    วิสฺสาสา   ปรมา   ญาติ     ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยอด
  5. ยอดทุกข์   ได้แก่รูปนาม    สงฺขารา   ปรมา   ทุกขา     สังขารคือรูปกับนามเป็นทุกข์อย่างยอด
  6. ยอดสุข   ได้แก่พระนิพพาน    นิพฺพานํ   ปรมํ   สุขํ     พระนิพพานเป็นสุขอย่างยอด
  7. ยอดคน   ได้แก่คนไม่มีสัทธา  คนอกตัญญู  คนตัดที่ต่อ  คนหมดโอกาส   คนสิ้้นหวัง   นี้แหละคือยอดคนสมดังพระบาลีในพระไตรปิฎกรับรองไว้ว่า
          อสฺสทฺโธ   อกตญฺญู   จ                  สนฺธิจฺเฉโท   จ   โย   นโร
          หตาวกาโส   วนฺตาโส                     ส   เว   อุตฺตมโปริโสฯ
          แปลว่า   บุคคลผู้ไม่เชื่อคุณธรรมที่ตนแทงตลอดแล้ว  ด้วยถ้อยคำของคนเหล่าอื่น 1   บุคคลผู้รู้พระนิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว 1   บุคคลผู้ตัดที่ต่อคือวัฏฏสงสารได้แล้ว 1   บุคคลผู้ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาเกิดอีก 1   บุคคลผู้ที่สิ้นหวังคือหมดอยาก  ได้แก่สิ้นตัณหา 1   นั้นแลชื่อว่าเป็นยอดคน   ดังนี้

          ทางไปนิพพาน  ได้แก่  วิปัสสนากรรมฐาน
          คำว่า  "นิพพาน"  แปลว่า  ดับกิเลสฯ  กิเลสที่นิพพานจะดับนั้นมีอยู่ 12  คือ โลภะ 8   โทสะ 2   โมหะ 2
          ถึงนิพพานครั้งที่ 1     ละกิเลสได้ 5  คือ  โลภะ 4   โมหะ 1
          ถึงนิพพานครั้งที่ 2     ทำกิเลสที่เหลือ 7  นั้น   ให้เบาบางลง
          ถึงนิพพานครั้งที่ 3     ละโทสะได้ 2
          ถึงนิพพานครั้งที่ 4     ละกิเลสได้อีก 5  คือ  โลภะ 4   กับโมหะ 1

วิปัสสนากรรมฐาน

          วิปัสสนากรรมฐาน  แปลว่า  กรรมฐานเป็นอุบายทำใจให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง  คือเห็นปัจจุบันธรรม  เห็นรูปนาม  เห็นพระไตรลักษณ์  เห็นมรรคผลนิพพาน
          ส่วนคำว่า  "กรรมฐาน"   นั้นแปลว่า  การกระทำที่่เป็นเหตุให้ได้บรรลุคุณวิเศษ คือ ฌาน  มรรค  ผล  นิพพาน
          คำว่า  "กรรมฐาน"  เป็นคำกลางๆ  ยังไม่เฉพาะเจาะจงไปว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา   ถ้าจะให้เป็น สถม ก็เติม  คำว่า  สมถ  ลงไปข้าหน้าสำเร็จรูปเป็น  สมถกรรมฐาน   ถ้าจะให้เป็น วิปัสสนา ก็ให้เติมคำว่า  วิปัสสนา  ลงข้างหน้าเป็น  วิปัสสนากรรมฐาน
          อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน  ได้แก่ ขันธ์ 5   อายตนะ 12   ธาตุ 18   อินทรีย์ 22   อริยสัจ 4   ปฏิจจสมุปบาท 12   ย่อให้สั้น  ได้แก่  รูปนาม  คือ  กายกับใจ
          การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น   ถึงจะมีความรู้ทางด้านปริยัติดีอย่างไรก็ตามไม่สามารถจะลงมือปฏิบัติด้วยตนเองให้ได้ผลดีได้   ดูพระตุจฉะโปฐิละ  เป็นตัวอย่างก็แล้วกัน   ขนาดเรียนจบพระไตรปิฎกก็ต้องอาศัยสามเณรน้อยอายุแค่ 7 ขวบเท่านั้นเป็นพระอาจารย์สอนให้   ท่านจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์    ดังนั้นท่านผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลอันสูงจริงๆ แล้ว    ต้องมีครูบาอาจารย์คอยสอบอารมณ์  คอยต่อบทเรียนให้   จนกว่าจะได้ฟังเทศน์ลำดับญาณ   รู้แนวทางแล้วนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ในโอกาสต่อไป    ถึงจะไปอยู่ในที่ไหนๆ  ก็สามารถปฏิบัติได้เพราะรู้วิธีแล้ว   ตามธรรมเนียมของผู้ปฏิบัติ   จำเป็นจะต้องขึ้นกรรมฐาน  หรือขึ้นครูเสียก่อน   โบราณเรียกว่า   ครอบวิชาให้

วิธีสมาทานพระกรรมฐาน

    1.  ถวายสักการะต่อพระอาจารย์  ผู้ให้พระกรรมฐานแก่ตนก่อน
    2.  จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
    3.  ถ้าเป็นพระให้แสดงอาบัติก่อน  ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกา  ให้สมาทานศีล 5  หรือศีล 8 ก่อน
    4.  มอบกายถวายตัวต่อพระรัตนตรัยว่า    
          อิมาหํ   ภควา   อัตตภาวํ   ตุมฺหากํ   ปริจฺจชามิ     
          ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายตัวต่อพระรัตนตรัย  เพื่อเจริญกรรมฐาน
    5.  มอบกายถวายตัวต่อพระอาจารย์     
          อิมาหํ   อาจรีย   อตฺตภาวํ   ตุมฺหากํ   ปริจฺจชามิ     
          ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ   ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายตัวต่อพระอาจารย์  เพื่อเจริญกรรมฐาน
    6.  ขอพระกรรมฐาน     
          นิพฺพานสฺส   เม  ภนฺเต   สจฺฉิกรณตฺภาย   กมฺมฏฺฐานํ   เทหิ     
          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ขอท่านจง  ให้กรรมฐานแก่ข้าพเจ้าเพื่อบรรลุ   มรรค  ผล  นิพพาน
    7.  แผ่เมตตา     
          อหํ   สุขิโต   โหมิ   นิทฺทุกฺโข   โหมิ   อเวโร  โหมิ   อพฺยาปชฺโฌ   โหมิ   อนีโฆ   โหมิ   สุขีอตฺตานํ   ปริหรามิ     
          ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข  ปราศจากความทุกข์  ไม่มีภัยไม่มีเวร   ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ไม่มีความทุกข์กาย  ทุกข์ใจ  ขอให้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด     
          สพฺเพ   สตฺตา   สุขิตา   โหนฺตุ   นิทฺทุกฺขา   โหนฺตุ   อเวรา   โหนฺตุ   อพฺยาปชฺฌา   โหนฺตุ   อนีฆา   โหนฺตุ   สุขึ   อตฺตานํ   ปริหรนฺตุ     
          ขอให้สัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน  จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์  ไม่มีภัย  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ  ขอให้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด
    8.  เจริญมรณานุสสติ      
          อทฺธุวํ   เม  ชีวิตํ   ธุวํ   มรณํ   อวสฺสํ   มยา   มริตพฺพํ   มรณปริโยสานํ   เม  ชีวิตํ   ชีวิต   เมว   อนิยตํ   มรณํ   นิยตํ     
          ชีวิตของเราเป็นของไม่ยั้งยืน  ความตายเป็นของยั่งยืน  เราจะต้องตายแน่  เพราะว่าชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด   ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน   ความตายเป็นของแน่นอนแท้   เป็นโชคอันดีที่เราได้มีโอกาสมาสมาทานพระกรรมฐาน ณ บัดนี้  ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
    9.  ตั้งสัจจอธิษฐาน
          เยเนว   ยนฺติ   นิพฺพานํ             พุทฺธา   เตสญฺจ   สาวกา
          เอกายเนน   มคฺเคน                 สติปฏฺฐานสญฺญินา ฯ
          พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวก   ย่อมดำเนินไปสู่พระนิพพานด้วยหนทางสายนี้  อันเป็นทางสายเอก   ซึ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายรู้ทั่วถึงกันแล้วว่า  ได้แก่  สติปัฏฐาน 4 ฯ
          ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะอธิษฐานปฏิญาณตนต่อพระรัตนตรัย  ต่อครูอาจารย์ว่า  จะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ  เท่าที่ตนสามารถ   เท่าที่ตนมีโอกาสจะประพฤติปฏิบัติได้   เพื่อบูชาพระรัตนตรัย
    10.  ตั้งความปรารถนา
          อิมาย   ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติยา   รตนตฺตยํ   ปูเชมิ
          ข้าพเจ้าขอบูชาพระรัตนตรัยด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้   ด้วยสัจจวาจาที่ได้กล่าวอ้างนี้   ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จผลสมความปรารถนาในเวลาอันไม่ช้าด้วยเทอญ
    11.  สวดพระพุทธคุณ   พระธรรมคุณ   พระสังฆคุณ
    12.  ถ้าอยู่ป่า  อยู่ในถ้ำ  อยู่ในภูเขา  ให้สวดกรณียเมตตสูตรและสวดขันธปริตรด้วย


พระเทพสิทธิมุนี     22 .01.2524

------------------------------------------------------

1 ความคิดเห็น:

  1. ข้อความในข้อ 7. ยอดคน ได้แก่คนไม่มีสัทธา คนอกตัญญู คนตัดที่ต่อ คนหมดโอกาส คนสิ้้นหวัง

    ผมให้ว่าคงเขียนผิด กรุณาตรวจทานอีกที่ เพราะคนที่ไม่มีสัทธา จะเป็นยอดคนได้อย่างไร

    ตอบลบ